สำนักงานส่งเสริมบริหารงานวิจัยฯ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดพิธีการส่งมอบ “สระเก็บน้ำต้านภัยแล้งต้นแบบ” พร้อมอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การใช้เทคโนโลยีเพื่อเก็บกักน้ำโดยการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วม” ภายใต้โครงการ “Research for Community วิจัยเพื่อชุมชนสังคม” ณ บ้านสำโรง ต.สำโรง อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยมี รศ.ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสังคม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นประธานในการส่งมอบสระเก็บน้ำต้านภัยแล้งต้นแบบ พร้อมด้วย นายณัฐพงษ์ ศรีกฤต นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสำโรง อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี เป็นตัวแทนรับมอบสระเก็บน้ำต้านภัยแล้งต้นแบบ ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้งได้ ในปริมาณ 6 – 7 หมื่นลูกบาทเมตร
พร้อมกันนี้ ดร.ฉัตรภูมิ วิรัตนจันทร์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งได้เป็นผู้ดำเนินโครงการ สระเก็บน้ำต้านภัยแล้งต้นแบบ โดย Research for Community วิจัยเพื่อชุมชนสังคม เรื่อง “การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตโดยการบริหารจัดการในพื้นที่” ในครั้งนี้ ได้ให้เกียรติบรรยายในหัวข้อ การใช้เทคโนโลยีเพื่อเก็บกักน้ำโดยการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วม อีกด้วย
ทั้งนี้ สำนักงานส่งเสริมบริหารงานวิจัยฯ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้รับงบประมาณการทำกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้ดำเนินโครงการ Research for Community วิจัยเพื่อชุมชนสังคม เรื่อง “การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต โดยการบริหารจัดการในพื้นที่” อันมีวัตถุประสงค์” เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีน้ำใช้ภาวะที่ขาดแคลน โดยใช้การบริหารจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วม และการใช้เทคโนโลยีการเก็บกักน้ำจาก ดินเหนียวสังเคราะห์ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยได้จัดประชุมประชาคมร่วมกับผู้นำชุมชนตำบลสำโรงและมีมติจากที่ประชุมได้คัดเลือกพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ดำเนินกิจกรรมโครงการ
บ้านสำโรง หมู่ที่ 5 ต.สำโรง อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี มีลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบสลับภูเขา ทำให้ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรทั้งฤดูฝนและฤดูแล้ง การทำเกษตรกรรมของเกษตรกรในพื้นที่อาศัยแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่มีอยู่ในปัจจุบัน แม้มีแหล่งน้ำที่กระจายตัวอยู่พอสมควรแต่ประชาชนยังขาดแคลนน้ำสำหรับการอุปโภคและบริโภคในช่วงที่หมดฤดูฝนตั้งแต่เดือนธันวาคมจนถึงเดือนเมษายนของทุกปี ทำให้ชาวบ้านต้องซื้อน้ำสำหรับอุปโภคและบริโภค บางครั้งต้องอาศัยน้ำจากองค์การบริหารส่วนตำบลสำโรงเข้าไปให้การช่วยเหลือ ทำให้มีค่าใช้จ่ายในครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งการขาดน้ำสำหรับทำการเกษตรส่งผลทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหายและไม่ได้ผลการผลิตเท่าที่ควร
ดังนั้นมหาวิทยาลัยได้เล็งเห็นปัญหาในชุมชนจึงมีแนวคิดโครงการ “แก้แล้ง แก้จน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของชุมชน” และได้ดำเนินกิจกรรมร่วมกับชุมชนที่ผ่านมา การจัดประชาคมหมู่บ้านเพื่อชี้แจงรายละเอียดการดำเนินโครงการ ตลอดจนการลงพื้นที่สัมภาษณ์และเก็บข้อมูลพื้นฐานของเกษตรกรในชุมชน การอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การประยุกต์ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการสูบน้ำเพื่อพื้นที่ทำการเกษตร” การถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยว “สระเก็บน้ำในพื้นที่ดินปนทรายที่ป้องกันการรั่วซึมและการกัดเซาะ” การอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การเพาะปลูกพืชผักสวนอินทรีย์เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร” การดำเนินงานก่อสร้างสระเก็บน้ำต้านภัยแล้งต้นแบบ และการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การใช้เทคโนโลยีเพื่อเก็บกักน้ำโดยการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วม”
ในการดำเนินงานโครงการ Research for Community วิจัยเพื่อชุมชนสังคม เรื่อง “การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตโดยการบริหารจัดการในพื้นที่” ครั้งนี้ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ขอขอบคุณผู้นำชุมชนและพี่น้องในชุมชนบ้านสำโรงทุกท่าน ที่ให้ความร่วมมือ ร่วมแรงในการดำเนินงานกิจกรรมของโครงการที่ผ่านมานั้นสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี.