เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2561 นักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ และสาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทีม FU-EL SKY และทีม Rub-Bit พร้อมอาจารย์ที่ปรึกษา เข้าร่วมการแข่งขันการประกวดโครงการ “GSB Startup University Model” ในงาน “GSB Smart SMEs Smart Startup 2018” ซึ่งรวมศักยภาพ SMEs และสร้างเสริม Startup ไทย บุกโลกดิจิทัล เพื่อยกระดับประเทศไทยขึ้นแท่นศูนย์กลางพัฒนา SME และ Startup ภูมิภาคอาเซียน ภายใต้แนวคิด “Idea to Prototype Pitching” โดยธนาคารออมสิน ระหว่างวันที่ 16 – 18 พฤศจิกายน 2561
สืบเนื่องจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นมหาวิทยาลัยเดียวที่โครงการนักศึกษาผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ 2 โครงการ ใน 10 โครงการ จาก 50 โครงการทั่วประเทศ ที่ทางคณะกรรมการได้พิจารณาคัดเลือกและได้เข้าร่วมการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศในงาน “GSB Smart SMEs Smart Startup 2018” โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดและ นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวรายงานและวัตถุประสงค์การจัดโครงการครั้งนี้ เพื่อพัฒนาศักยภาพกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้ผู้ประกอบการที่มีคุณภาพ กล้าคิด กล้าทำ และกล้าสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ โดยธนาคารออมสินจะเป็นศูนย์กลางทางด้านแหล่งเงินทุนที่ช่วยต่อยอดและผลักดันธุรกิจ SME และ Startup ให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการ 4.0 ยกระดับให้เป็นศูนย์กลางของ INNOVATION HUB ของประเทศไทย
จากการประกวดโครงการ “GSB Startup University Model” ครั้งนี้ ผลปรากฏว่า นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทีม Rub-Bit และทีม FU-EL SKY ทั้ง 2 ทีม กวาดมาได้ 2 รางวัล โดยโครงการ “เครื่องผสม Formic Acid แบบอัตโนมัติ” ผลงานของทีม Rub-Bit ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 พร้อมเงินรางวัล จำนวน 50,000 บาท มีสมาชิกในทีม 4 คน ประกอบด้วย นายกรวิช แก้วดี และนายภาณุพงศ์ นางาม นักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ, นางสาวกาญจนา บำเพ็ญ และนายอาณุวรรณ กาลจักร นักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ภาควิชาเคมี โดยมี ดร.ศันศนีย์ ศรีจันทร์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการยางและพอลิเมอร์ ภาควิชาเคมี และนายอนุพงษ์ รัฐิรมย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการดังกล่าว
และโครงการ “อากาศยานไร้คนขับหว่านเมล็ดเพื่อการเกษตร” ผลงานของทีม FU-EL SKY ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 พร้อมเงินรางวัล จำนวน 30,000 บาท มีสมาชิกในทีม 3 คน ประกอบด้วย นางสาวนิศาชล บุญจรัส, นายณรงค์ฤทธิ์ อินทนนท์ และนายอิทธิพล มะโนธรรม นักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมี ดร.สมปอง เวฬุวนาธร อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ภายใต้การนำทีมของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์กมลพร นครชัยกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นายณรงค์ แดนตะโคตร และ นางสาวสุทธิดา จันทนะ เจ้าหน้าที่ประสานงานกิจกรรมในโครงการ Startup เป็นผู้นำทีมนักศึกษาและอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการร่วมการแข่งขันและโชว์ผลงานด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลครั้งนี้ พร้อมทั้งนำผลงานของนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจัดแสดงบริเวณโซนที่ 4 Smart Education ซึ่งเป็นพื้นที่จัดแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลของนักเรียน นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยและบริษัทต่างๆ มาจัดแสดง พร้อมทั้งไอเดียใหม่ๆ เพื่อนำเสนอให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการได้เข้าชมภายในงาน ณ ห้องเพลนารี่ฮอลล์ 1–3 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ
สำหรับ “เครื่องผสม Formic Acid แบบอัตโนมัติ” ทีม Rub-Bit พัฒนาขึ้นเพื่อเป็นโครงการต้นแบบเครื่องผสมกรดฟอร์มิกแบบอัตโนมัติ ในการถ่ายทอดกระบวนการเตรียมกรดฟอร์มิกให้กับวิสาหกิจสวนยางขนาดกลางและขนาดย่อม ให้สามารถเตรียมใช้เองและจำหน่ายได้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับสมาชิกหรือผู้ซื้อสินค้าให้สามารถชำระค่าสินค้าผ่านระบบ QR Code ของธนาคารออมสินได้ โดยมีการทำงานร่วมกันในหลายภาคส่วน อาทิ ธนาคารออมสิน นักศึกษา คณาจารย์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งสอดคล้องกับแนวทาง “สานพลังประชารัฐ” ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรชาวสวนยางใช้กรดฟอร์มิกในการจับตัวน้ำยางเพื่อผลิตยางก้อนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยลดรายจ่ายของเกษตรกร ลดมลพิษจากการตกค้างของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และสหกรณ์มีเงินปันผลเพิ่มขึ้นจากรายได้ในการขายกรดฟอร์มิกและขายยางก้อนถ้วยคุณภาพดี โดยมีสหกรณ์และธนาคารออมสินเป็นคู่ค้าที่ช่วยอุดหนุนเกื้อกูลกันมากยิ่งขึ้น
ในส่วนของโครงการ “อากาศยานไร้คนขับหว่านเมล็ดเพื่อการเกษตร” ทีม FU-EL SKY พัฒนาขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบอากาศยานไร้คนขับหว่านปุ๋ยและเมล็ดพันธุ์สมรรถนะสูงสำหรับการเกษตร เพื่อทดสอบประสิทธิภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ต้นแบบเพื่อการเกษตร เนื่องจากเป็นสินค้าเชิง “นวัตกรรม” ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด Thailand 4.0 มีความเป็นไปได้สูงที่จะเปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิมในปัจจุบัน ไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยี (Smart Farming) โดยโดรน (drone) หรืออากาศยานไร้คนขับเพื่อการเกษตรจัดอยู่ในกลุ่มเครื่องมือ อุปกรณ์อัจฉริยะ และหุ่นยนต์ เป็นกลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมายของนโยบายภาครัฐ ลดความเสี่ยงในการสัมผัสหรือผลกระทบจากสารเคมีที่ใช้ในการเกษตร ลดต้นทุนให้กับเกษตรกร ประหยัดทั้งเวลาและแรงงาน ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และเป็นเกษตรกรแบบเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur) เพื่อพัฒนางานด้านการเกษตรต่อไป โดยผลงานการประกวดโครงการของนักศึกษาทีม FU-EL SKY ทีม Rub-Bit และอาจารย์ที่ปรึกษา ได้สร้างชื่อเสียงและโชว์ผลงานทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จและความภาคภูมิใจอย่างต่อเนื่องของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.