๒๓ ตุลาคม ของทุกปี ปวงประชาชนชาวไทยต่างเป็นที่ทราบกันดีว่า คือ “วันปิยมหาราช” เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ซึ่งเหล่าชาวไทยได้พร้อมใจกันถวายพระนามแด่พระองค์ว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง หรือ สมเด็จพระปิยมหาราช

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงเสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันอังคาร เดือน ๑๐ แรม ๓ ค่ำ ปีฉลู หรือ ๒๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๓๙๖ เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๙ ใน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นที่ ๑ ใน สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพมหากุฎ บุรุษยรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศ์บริพัตรสิริวัฒนราชกุมาร และทรงมีพระนามเต็มว่า ‘พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฏ บุรุษรัตนราชรวิวงศ์ วรุฒมพงษ์บรพัตร วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาตสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนาถ อดิศวรราชรามวรังกูร สุภาธิการรังสฤษดิ์ ธัญลักษณวิจิตโสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคประนตบาทบงกชยุคล ประสิทธิสรรพศุภ ผลอุดมบรมสุขุมมาลย์ ทิพยเทพาวตารไพศาลเกียรติคุณอดุลยวิเศษ สรพรรพเทเวศรานุรักษ์ วิสิษฐศักดิ์สมญาพินิตประชานาถ เปรมกระมลขัติยราชประยูร มูลมุขราชดิลก มหาปริวารนายกอนันต์มหันตวรฤทธิเดช สรรวิเศษสิรินทร อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ ประสิทธิ์วรยศ มโหดมบรมราชสมบัติ นพปดลเศวตฉัตราดิฉัตร สิริ รัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเษกกาภิสิต สรรพทศทิศวิชิตไชย สกลมไหสวริยมหาสวามินทร์ มเหศวรมหินทรามหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติ อาชาวศรัย พุทธาธิไตยรัตนสรณารักษ์ อดุลยศักดิ์อรรคนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤทัย อโนปมัยบุญการสกลไพศาล มหารัษฎาธิบดินทร์ ปรมินทรธรรมิกหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระจุลจอม- เกล้าเจ้าอยู่หัว’
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับการศึกษาชั้นต้นด้านอักษรศาสตร์ และโบราณราชประเพณี จากสำนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา (พระองค์เจ้าบุตรี) พระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ ๓, ทรงศึกษาภาษามคธกับพระปริยัติธรรมธาดา(เนียม), ศึกษาวิชาการยิงปืนไฟ จากสำนัก พระยาอภัยศรเพลิง(ศรี), ศึกษาวิชาคชกรรมกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ และนอกจากนั้นพระองค์ท่านยังทรงได้ศึกษาภาษาอังกฤษจากชาวต่างประเทศโดยตรงจนทรงรอบรู้ในศาสตร์แขนงนี้ได้เป็นอย่างดี ส่วนทางด้านวิชารัฐศาสตร์ ราชประเพณีและโบราณคดีนั้น สมเด็จพระบรมชนกนาถเป็นผู้พระราชทานการฝึกสอนด้วยพระองค์ จวบจนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๑๑ เหล่าเสนาบดีและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ จึงพร้อมใจกันอัญเชิญพระองค์ท่านขึ้นเถลิงราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๕ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
ทั้งนี้การขึ้นเถลิงราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสองครั้งด้วยกัน โดยในครั้งแรกเมื่อ วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๑๑ ซึ่งในขณะนั้นพระองค์ท่านทรงมีพระชนมายุได้ ๑๔ พรรษา สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งขณะนั้นมีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ รับหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และในช่วงเวลาดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเริ่มเสด็จประพาสต่างประเทศเพื่อศึกษาและนำวิทยาการสมัยใหม่มาเป็นแนวทางเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เนื่องจากในยุคนั้น อารยธรรมจากประเทศแถบตะวันตกได้เริ่มเข้ามาแพร่หลายในประเทศอินเดีย และชวา ส่วนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ ๒ นั้นเกิดขึ้นเมื่อ วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๑๖ ภายหลังจากที่พระองค์ทรงมีพระชนมายุบรรลุพระราชนิติภาวะ และได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุเป็นเวลา ๒ สัปดาห์ ซึ่งนับจากนั้นเป็นต้นมา พระองค์ท่านก็ทรงพระราชอำนาจเด็ดขาดในการบริหารราชการแผ่นดิน

ตลอดระยะเวลา ๔๒ ปี ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชย์ พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศไทยอย่างมากมาย โดยเฉพาะในช่วงรัชสมัยของพระองค์ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าคือ ยุคที่อารยธรรมสมัยใหม่และการล่าอาณานิคมเมืองขึ้นได้เริ่มมีเข้ามาถึงแถบเอเชีย พระองค์ท่านจึงได้ทรงจัดส่งพระราชโอรสและนักเรียนไทยไปศึกษาในต่างประเทศ เพื่อนำมวลความรู้กลับมาพัฒนาประเทศ อันแสดงถึงความมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของพระองค์ที่นำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรือง และคุณประโยชน์แก่ประเทศไทยให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์และสามารถธำรง “เอกราช” ไว้ได้ตราบจนทุกวันนี้
ทั้งนี้ ปัจจัยแห่งอารยธรรมสมัยใหม่ และพระราชกรณียกิจอันเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศไทยที่พระองค์ท่านได้ทรงริเริ่มในรัชสมัยของพระองค์ สามารถจำแนกได้พอสังเขปดังต่อไปนี้
การเลิกทาส เป็นพระราชกรณียกิจอันยิ่งใหญ่ซึ่งช่วยปลดเปลื้องทุกข์ยากของปวงชนชาวไทยในยุคนั้น และทำให้พระองค์ทรงได้รับพระสมัญญาว่า “สมเด็จพระปิยมหาราช” ซึ่งด้วยพระปรีชาสามารถ พระองค์ท่านได้ทรงค่อยๆ ปรับเงื่อนไขว่าด้วยการเลิกทาสอย่างเป็นระบบโดยมิยอมให้เกิดกรณีขัดแย้ง หรือเหตุวุ่นวายจากบรรดาเจ้านายเก่าซึ่งเคยมี และต้องมีข้าทาสไว้รับใช้มาตั้งแต่ครั้งโบราณ
โดยในการณ์นี้พระองค์ได้ทรงเริ่มจาก การตราพระราชบัญญัติขึ้น เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๑๗ ให้มีผลย้อนหลังไปถึงปีที่พระองค์ท่านได้เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ ซึ่งระบุว่า “ลูกทาส” ซึ่งเกิดเมื่อปีมะโรง พุทธศักราช ๒๔๑๑ ให้มีสิทธิได้ลดค่าตัวทุกปี จนเมื่ออายุครบ ๒๑ ปี ก็ให้ขาดจากความเป็นทาสทั้งชายและหญิง จากนั้นใน พุทธศักราช ๒๔๔๘ พระองค์จึงได้ทรงออกพระราชบัญญัติเลิกทาสที่แท้จริงขึ้น เรียกว่า “พระราชบัญญัติทาส ร.ศ.๑๒๔” (หรือ พุทธศักราช ๒๔๔๘) โดยให้ยกเลิกลูกทาสในเรือนเบี้ยอย่างเด็ดขาด และเด็กที่เกิดจากทาส ไม่ต้องเป็นทาสอีกต่อไป นอกจากนี้การซื้อขายทาสยังระบุให้เป็นโทษทางอาญา ส่วนผู้ใดที่ยังเป็นทาสอยู่แล้ว ก็ให้นายเงินลดค่าตัวให้เดือนละ ๔ บาท จนกว่าจะครบตามจำนวนค่าตัว ซึ่งในการเลิกทาสนี้ พระองค์ท่านใช้เวลาเพียง ๓๐ ปีเศษ ทาสในเมืองไทยก็หมดไปโดยไม่เกิดการนองเลือดเฉกเช่นประเทศอื่นๆ
การปฏิรูประบบราชการ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณา
โปรดเกล้าฯ ให้ตราระเบียบการปกครองขึ้นใหม่ โดยให้แยกหน่วยราชการต่างๆ ออกเป็นกรมกอง โดยให้มีหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะด้าน ซึ่งจากเดิมประเทศไทยในยุคนั้นมีเพียง ๖ กระทรวง คือ กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงลาโหม, กระทรวงนครบาล, กระทรวงวัง, กระทรวงการคลัง และกระทรวงเกษตราธิการ พระองค์ท่านทรงให้เพิ่มขึ้นอีก ๔ กระทรวง รวมเป็น ๑๐ กระทรวง อันได้แก่ กระทรวงธรรมการ มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับกิจการของพระสงฆ์ และการศึกษา, กระทรวงยุติธรรม มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับคดีความ, กระทรวงโยธาธิการ มีหน้าที่ดูแลตรวจตราการก่อสร้างต่างๆ และ กระทรวงการต่างประเทศ มีหน้าที่ดูแลงานที่เกี่ยวข้องกับการต่างประเทศ
การสาธารณูปโภค พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงริเริ่มให้มีนโยบายเก็บกักน้ำ โดยเริ่มจากแม่น้ำเชียงรากน้อย จังหวัดปทุมธานี และขุดคลองเพื่อส่งน้ำเข้ามายังสามเสน พร้อมทั้งฝังท่อเอกติดตั้งอุปกรณ์สำหรับการทำน้ำประปาขึ้นเมื่อเดือน กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๕๒, ด้านการคมนาคม พระองค์ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปขุดดินก่อพระฤกษ์เมื่อ เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม เพื่อประเดิมการสร้างทางรถไฟไปนครราชสีมา แต่อย่างไรก็ดีพระองค์ก็ได้ทรงเปิดทางรถไฟกรุงเทพฯ-พระนครศรีอยุธยาก่อน ด้วยเหตุนี้จึงนับได้ว่าเส้นทางรถไฟสายนี้เป็นทางรถไฟแห่งแรกของไทย, ด้านการสาธารณสุข ได้ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน ๒๐๐ ชั่ง โปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงพยาบาลวังหลัง ซึ่งต่อมาก็คือ “โรงพยาบาลศิริราช” และเปิดทำการรักษาประชาชนเป็นครั้งแรกเมื่อ ๒๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๓๑, ด้านการไฟฟ้า ทรงเป็นผู้ริเริ่มให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับประชาชนได้เป็นครั้งแรกเมื่อปี พุทธศักราช ๒๔๓๓ และงาน ด้านการไปรษณีย์ ทรงเป็นผู้ให้เริ่มจัดขึ้นในปี พุทธศักราช ๒๔๑๔ รวมอยู่ในกรมโทรเลข ซึ่งได้จัดขึ้นตั้งแต่ พุทธศักราช ๒๔๑๒ โดยโทรเลขสายแรกคือ ระหว่างจังหวัดพระนคร (กรุงเทพมหานคร) กับจังหวัดสมุทรปราการ
การเสด็จประพาส พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดการเสด็จประพาสเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพื่อพระองค์จะได้ทรงทราบถึงความเป็นอยู่ที่แท้จริงของราษฎร การเสด็จประพาสในที่ต่างๆ เป็นการตรวจตราสารทุกข์สุขดิบของราษฎรได้เป็นอย่างดี พระองค์จึงได้ทรงปลอมแปลงพระองค์ไปกับเจ้านายและข้าราชการ โดยเสด็จฯ ทางเรือมาดแจวไปตามแม่น้ำลำคลองต่างๆ เพื่อแวะเยี่ยมเยียนตามบ้านราษฎร ซึ่งเรียกกันว่า “ประพาสต้น” และนอกจากนั้น พระองค์ท่านยังทรงเสด็จประพาสหัวเมืองใหญ่น้อยในพระราชอาณาเขต บางคราวก็เสด็จไปเพื่อทรงตรวจจัดการปกครอง จัดการรับเสด็จเป็นทางราชการ บางคราวไปเพื่อสำราญพระราชอิริยบถ และไม่ทรงโปรดให้จัดการรับเสด็จเป็นทางราชการ แต่ทรงโปรดให้จัดการที่เสด็จไปให้ง่ายยิ่งกว่าเสด็จไปประพาสเพื่อสำราญพระราชอิริยบถอย่างสามัญ คือไม่ให้มีท้องตรา สั่งหัวเมืองให้จัดทำที่ประทับแรม ณ ที่ใดๆ สุดแต่พอพระราชหฤทัยที่จะประทับที่ไหนก็ประทับที่นั้น บางทีก็ทรงเลือก หรือเสด็จโดยสารรถไฟไปมิให้ใครรู้จักพระองค์

นอกจากการแสดงประพาสภายในประเทศแล้ว การเสด็จประพาสยังต่างประเทศยังเป็นพระราชกรณียกิจที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยภายหลังจากเกิดกรณีพิพาทกับฝรั่งเศสแล้ว ก็ได้เสด็จประพาสยุโรป ๒ ครั้ง ในปี พุทธศักราช ๒๔๔๐ ครั้งหนึ่ง และในปี พุทธศักราช ๒๔๕๐ อีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ ในยุโรป ตลอดจนประเทศฝรั่งเศสด้วย อีกทั้งยังได้ทรงเลือกสรรเอาแบบแผนขนบธรรมเนียมอันดีในดินแดนเหล่านั้นมาปรับปรุงในประเทศให้เจริญขึ้น
การศึกษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ความความสำคัญของการศึกษาอย่างยิ่ง จึงทรงโปรดให้สร้างโรงเรียนหลวงขึ้นในพระบรมมหาราชวัง คือ “โรงเรียนนายทหารมหาดเล็ก” ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ” ต่อมาได้ทรงโปรดให้ตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรขึ้นเป็นแห่งแรก คือ “โรงเรียนวัดมหรรณพาราม” และในที่สุดได้ทรงโปรดให้จัดตั้งกระทรวงธรรมการขึ้น เมื่อปี พุทธศักราช ๒๔๓๕ (ปัจจุบันคือกระทรวงศึกษาธิการ) เพื่อดูแลเรื่องการศึกษาและการศาสนา
การปกป้องประเทศจากการสงครามและการจำยอมสละดินแดน สืบเนืองมาจากลัทธิจักรวรรดินิยมได้แผ่อิทธิพลเข้ามาตั้งแต่เมื่อครั้งปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้ความพยายามอย่างสุดกำลังเพื่อรักษาประเทศชาติให้รอดพ้นจากวิกฤติการณ์ล่าอาณานิคม ถึงแม้ว่าในบางกรณีจำจะต้องสูญเสียดินแดนบางส่วนไป แต่เพื่อดำรงไว้ซึ่งเอกราช พระองค์จึงจำเป็นต้องยอมสละเพื่อคงไว้ในดินแดนที่เหลืออยู่ โดยสามารถสรุปพอสังเขป ดังต่อไปนี้
- พุทธศักราช ๒๔๓๑ เสียดินแดนในแคว้นสิบสองจุไทย
- พุทธศักราช ๒๔๓๖ เสียดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ให้ฝรั่งเศส และฝรั่งเศสยึดเมืองจันทบุรีไว้
- พุทธศักราช ๒๔๔๗ เสียดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศส เพื่อแลกกับเมืองจันทบุรี แต่ฝรั่งเศสได้ยึดตราดไว้แทน
- พุทธศักราช ๒๔๔๙ เสียดินแดนที่เมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ให้ฝรั่งเศส เพื่อแลกกับตราด และเกาะทั้งหลาย แต่การเสียดินแดนครั้งสุดท้ายนี้ไทยก็ได้ประโยชน์อยู่บ้าง คือฝรั่งเศสยอมยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ยอมให้ศาลไทยมีสิทธิที่จะชำระคดีใดๆ ที่เกิดขึ้นแก่ชาวฝรั่งเศส ไม่ต้องไปขึ้นศาลกงสุลเหมือนแต่ก่อน
นอกจากจะทรงพระปรีชาสามารถในด้านการเมืองการปกครองแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงมีพระอัจฉริยภาพในงานด้านพระราชนิพนธ์อีกด้วย โดยสามารถประมวลได้ทั้งหมด ๑๐ เรื่องด้วยกัน อันได้แก่ ไกลบ้าน, เงาะป่า, นิทราชาคริต, อาบูหะซัน, พระราชพิธีสิบสองเดือน, กาพย์เห่เรือ, คำเจรจาละครเรื่องอิเหนา, ตำรากับข้าวฝรั่ง, พระราชวิจารณ์จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี และโคลงบรรยายภาพรามเกียรติ์
๒๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๕๓
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันเป็นที่รักของปวงชนชาวไทยได้ทรงเสด็จสวรรคตด้วยโรคพระวักกะ ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต (เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๑๑ แรม ๕ ค่ำ ปีจอ) รวมพระชนมายุได้ ๕๘ พรรษา
ในกาลต่อมา ทางราชการจึงได้ประกาศให้วันที่ ๒๓ ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันที่ระลึกถึงความสำคัญของชาติวันหนึ่งซึ่งเรียกว่า วันปิยมหาราช และกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ของพระองค์มาจนตราบเท่าทุกวันนี้.
หมายเหตุ : รัชกาลที่ ๕ใช้อักษรย่อว่า “จปร” ย่อมาจาก “มหาจุฬาลงกรณ ปรมราชาธิราช”
- โดย ธนกฤต วงษ์พรต